top of page
Search
Namfon Goodey

5 วิธีสอนลูกเรื่องเงิน - การเงินสำหรับเด็กแบบง่ายๆ ทำได้ทุกบ้าน

คุณพ่อคุณแม่คิดว่าเด็กๆ เริ่มเรียนรู้เรื่องการเงินเมื่ออายุเท่าไหร่คะ? เมื่อขึ้นมัธยม? เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย? หรือเมื่อเริ่มทำงาน?



คำตอบก็คือ ลูกเริ่มเรียนรู้เรื่องเงินเมื่ออายุ 3 ขวบค่ะ!


มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Wisconsin-Madison ที่สรุปว่าเด็กในวัย 3 ขวบเข้าใจแล้วว่าเงินเอาไว้ใช้แลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่เราต้องการ และยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้สรุปไว้ว่า นิสัยต่างๆ ที่จะช่วยให้ลูกบริหารการเงินของตนเองได้นั้นได้ถูกหล่อหลอมเสร็จสิ้นแล้วเมื่อลูกอายุ 7ขวบ!


ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวันอนุบาลและประถม ช่วงนี้เป็นเวลาที่ดีมากที่จะเริ่มปลูกฝังทัศนคติและสร้างนิสัยที่ดีทางการเงิน ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร เรามี 5 วิธีสอนลูกเรื่องเงินสำหรับเด็กประถมที่ทำได้ง่ายๆ มาฝากกันค่ะ



1. ดึงดูดใจให้เด็กออมเงิน


พูดคุยกับลูกถึงความสำคัญของการออม คุณพ่อคุณแม่อาจพูดถึงเป้าหมายในการออมเงินระยะสั้น ระยะยาว และการออมเงินเผื่อสถาณการณ์ฉุกเฉินโดยอาจยกตัวอย่างว่าคุณพ่อคุณแม่ออมอย่างไรสำหรับเป้าหมายแต่ละอย่าง ให้ลูกตั้งเป้าหมายในการออมด้วยตัวเอง โดยอาจเป็นการออมเพื่อซื้อสิ่งของที่ต้องการ หรือเป็นการออมระยะยาวก็ได้ถ้าลูกอยากทำ


ถ้าหากลูกๆ มีบัญชีธนาคารแล้วก็สามารถออมในบัญชี แต่ถ้าหากยังไม่มีก็สามารถออมในกระปุกโดยแนะนำให้เป็นกระปุกใสเพื่อให้ลูกได้เห็นเงินออมที่เติบโตขึ้นทุกวัน

เพื่อดึงดูดใจในการออมคุณพ่อคุณแม่อาจเสนอ incentive หรือเพิ่มเงินให้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น ถ้าหากลูกสามารถหยอดกระปุกได้ทุกวันอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 1 เดือน คุณพ่อคุณแม่จะเพิ่มเงินให้อีก 20% เป็นต้น


2. ชวนลูกคุยเรื่องความต้องการและความจำเป็นในการใช้เงิน


สอนให้เด็กๆ รู้จักความแตกต่างระหว่างความต้องการและความจำเป็น สอนให้เด็กๆ รู้จักสำรวจที่มาของความต้องการซื้อสินค้าบางอย่างของตนเอง โดยอาจจะตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “ทำไมลูกถึงอยากได้ของชิ้นนี้ ลูกเห็นเพื่อนใช้ หรือเห็นจากโฆษณา” เมื่อลูกขอซื้อของบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่มองว่าไม่จำเป็น และสอนให้ลูกรู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะอยากได้สิ่งต่างๆ อยู่เสมอ แต่เราต้องรู้ว่าสิ่งนั้นจำเป็นหรือไม่ รู้จักจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่าย และไม่ใช้เงินทั้งหมดที่มีไปกับสิ่งที่เป็นความต้องการ


3. ให้ลูกฝึกบริหารงบประมาณ


ลองให้ลูกบริหารงบประมาณแบบง่ายๆ ด้วยการให้ลูกเป็นคนตัดสินใจซื้อของตามงบประมาณที่จำกัด เมื่อไปร้านสะดวกซื้อ คุณพ่อคุณแม่อาจจะให้โจทย์ลูกว่าต้องการซื้ออะไรบ้างในจำนวนเงินที่กำหนดและให้ลูกเป็นคนเลือกแบรนด์ต่างๆ ของสินค้าเหล่านั้นให้อยู่ในงบประมาณเพื่อให้ลูกได้ฝึกการเปรียบเทียบสินค้าและตัดสินใจ


4. ให้โอกาสลูกในการบริหารเงินของตัวเอง


ลูกจะรู้จักการบริหารเงินได้หากเขามีเงินมากพอ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ค่าขนมในจำนวนที่เห็นว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละวันและสามารถเหลือเก็บได้เล็กน้อย โดยไม่นำส่วนที่เหลือจากวันนี้ไปหักออกจากค่าขนมของวันถัดไป (เช่นคุณพ่อคุณแม่ให้ค่าขนมวันละ 40 บาท วันนี้ลูกใช้เงินเหลือ 10 บาท วันถัดไปคุณพ่อคุณแม่จึงให้เงิน 30 บาทเพื่อเติมให้ครบ 40 บาท) เพราะจะทำให้เด็กๆ ขาดแรงจูงใจในการออม สิ่งที่ควรทำคือช่วยลูกดูแลเงินที่เหลือในแต่ละวันโดยอาจจะหยอดกระปุกและช่วยลูกจดบันทึกเงินออม


5. เป็นตัวอย่างที่ดีทางการเงินให้กับลูก


ท้ายที่สุดเด็กๆ เรียนรู้เรื่องการเงินมากที่สุดจากพฤติกรรมการใช้เงินของคนในครอบครัว ถ้าหากลูกได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ใช้จ่ายอย่างไม่ยั้งคิด ลูกก็จะมองว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในทางกลับกันหากลูกได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ออมเงินอย่างมีเป้าหมาย คิดก่อนใช้จ่าย หรือพูดถึงการลงทุนอยู่เสมอ ลูกๆ ก็จะซึบซับพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างเป็นธรรมชาติค่ะ

นอกจากห้าข้อนี้แล้ว ยังมีเทคนิคในการสร้างทักษะทางการเงินสำหรับเด็กอีกมากมาย คุณพ่อคุณแม่สามารถดูรายละเอียดได้ที่คอร์สการเงินสำหรับเด็กค่ะ




1,573 views0 comments

Comments


bottom of page